Loading the content... Loading depends on your connection speed!

จตุรธาตุ

ร่างกายเป็นธรรมชาติ

ทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติเกิดด้วยธาตุทั้ง ๔ มาประชุมกัน การมองและวิเคราะห์หาสาเหตุการป่วย จึงต้องมองให้เป็นธรรมชาติ…และเพราะธรรมชาติ เกิดด้วยธาตุทั้ง ๔ ครูหมอโบราณจึงสอนเรื่องธาตุ คัมภีร์แพทย์ทั้งสิ้นล้วนเล่าเรื่องธาตุ ๔ ทั้งนั้น ธาตุ ๔ หรือ จตุรธาตุ ประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ..

๐ เมื่อธาตุใดธาตุหนึ่งกำเริบขึ้น(ภายใต้ปัจจัยเรื่องสภาพแวดล้อมและพฤติกรรม) โบราณจึงเรียกว่า เอกโทษ เหตุเพราะเกิดจาก ธาตุเพียงธาตุเดียว

๐ แต่เมื่อเกิดอาการผิดปกติมากขึ้น คือ ธาตุสองธาตุกระทบกัน โบราณจึงเรียกว่า โทษสอง คือ ทุวรรณโทษ
ครูบาอาจารย์โบราณท่านจึงอธิบายความสัมพันธ์นี้ไว้ว่า

ธาตุดิน เป็นธาตุใหญ่ที่รองรับธาตุอื่นอยู่อันเป็นรูปของสัตว์ทั้งหลาย เมื่อ กำเริบ หย่อน พิการ ย่อมมีผลกับการเคลื่อนไหวกระทบกับโครงสร้างร่างกายโดยตรง จึงเรียกว่า สันฑฆาต

ธาตุไฟ เมื่อ กำเริบ หย่อน พิการ ย่อมมีผลกับธาตุดินอันรองรับอยู่ เรียกว่า รัตตฆาต (ไฟ เผา ดิน) ให้เกิดมีอาการเป็นไปต่างๆ

ธาตุลม เมื่อ กำเริบ หย่อน พิการ ย่อมมีผลกับธาตุน้ำอันดำรงอยู่ร่วมกัน เรียกว่า ปัตตฆาต (ลม อุ้ม น้ำ) ให้เกิดมีอาการเป็นไปต่างๆ

ธาตุน้ำ เมื่อ กำเริบ หย่อน พิการ ย่อมมีผลกับธาตุดินอันดำรงอยู่ร่วมกัน เรียกว่า มุตตฆาต (น้ำ อุ้ม ดิน) ให้เกิดมีอาการเป็นไปต่างๆ

ซึ่งโดยธรรมชาติ เมื่อมีธาตุไฟ ก็จะขาดธาตุลม มิได้, เมื่อมีธาตุดิน ก็จะขาดธาตุน้ำ มิได้เช่นกัน แต่เมื่อขาดคู่ธาตุไป ย่อมทำให้เกิดวิบัติในคู่ธาตุนั้น ให้แสดงอาการวิบัติไปต่างๆ

๐ แต่เมื่อเกิดอาการผิดปกติมากขึ้นกว่าธาตุสองธาตุ คือ ธาตุเสียสมดุลเข้าประชุมกันเป็นสาม คือ ธาตุไฟ ธาตุลม และธาตุน้ำ ท่านจึงเรียกว่าโทษสาม คือ ตรีโทษ

๐ แต่เมื่อธาตุทั้งหลายเสียสมดุลมาก จนไม่สามารถจะทำงานเป็นปกติได้ ท่านจึงกล่าวว่า ธาตุ ๔ ประชุมกัน คือ สันนิบาตโทษ เหตุเพราะร่างกายประกอบด้วย ธาตุทั้ง ๔ จึงเป็นที่รองรับวิญญาณธาตุได้ โบราณจึงต้องเรียนรู้จากคนที่ยังมีวิญญาณ คือยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งต่างกับการแพทย์แผนตะวันตกที่ผ่าศพคนตาย ซึ่งมีธาตุไม่ครบ ๔ ธาตุ เป็นสาเหตุให้ไม่สามารถหาความจริงของชีวิตได้ การรักษาของตะวันตกจึงมุ่งเน้นเพื่อรักษาที่อาการแสดงในธาตุดินและน้ำซึ่งเป็นของที่มองเห็นและจับต้องได้เท่านั้น

แล้วพวกเราเป็นแพทย์แผนไทย เรียนความรู้จากคัมภีร์ของปราชญ์โบราณ เพราะเหตุใดจึงทิ้งความรู้อันสูงส่งนี้เสียเล่า จะมัวไขว่ คว้าของคนอื่นมา อธิบายร่างกายเพื่ออะไร…?

ธาตุ ๔ ภายนอก (อากาศ,อาหาร,สรรพสิ่งในโลกา)

ขันธ์ ๕

วิญญาณ ผู้รู้แจ้งในอารมณ์

รูป = ธาตุ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ (จตุรธาตุ)

เวทนา = ความรู้สึก สุข ทุกข์ อุเบกขา

สัญญา = ความจำได้หมายรู้ (อดีต)

สังขาร = ความรู้สึกปรุงแต่ง (อนาคต)

ขันธ์ ๕ จึงต้องมีวิญญาณรับรู้ ถ้าไม่รับรู้เราต้องย้อนกลับไปตรวจดูสิว่าในธาตุขันธ์ใดเป็นตัวแปร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ในที่นี้ ขันธ์ ๕ ของเราก็คือ ร่างกายประกอบไปด้วยธาตุ  ๔ มีดิน ๒๐ น้ำ ๑๒ ลม ๖ ไฟ ๔ (รวมวิญญาณ
การรับรู้ในธาตุนั้นๆด้วย)

ในร่างการของเราจึงมีจุดกดกระตุ้น ของธาตุต่างๆ ไว้ในตำแหน่งที่ต่างกันเพื่อง่ายต่อการ กระตุ้น ซ่อมสร้างระบบ ของแต่ละธาตุนั้น จึงได้มีจุดกดนวดแต่โบราณมา การไหลเวียนธาตุทั้งหลายต้องมีช่องว่างเสมอ ถ้าขาดช่องว่างของการไหลถ่ายเทพลังงานธาตุแล้วติดขัดตรงส่วนไหนสิ่งนั้น ตรงนั้นย่อมแปรไปในเกิดโรคได้

ในกระบวนการถ่ายเทไหลเวียนพลังงานย่อมมีทางเข้าต้นทาง กลางทาง ปลายทาง มีจุดต่อ จุดลด จุดตัด ตามลักษณะของรูปขันธ์ ๕ นั้นๆ บางจุด มีจุดที่เปิด และจุดที่ปิดด้วย เพื่อถ่ายเทพลังงาน เช่น ต่อมเหงื่อ ขับออก
ตามรูขุมขน หรือ ของเสียที่ขับออกทางทวารทั้ง ๙
นวทวาร หรือ ทศทวาร เป็นต้น ถ้าของเสียไม่ถูกขับออก ก็เกิดการสะสมหรือเป็นก้อนบ้าง ลิ่มบ้าง เน่า อืด พองในอวัยวะนั้นๆ จนเกิดแปรเป็นโรคได้ในที่สุด

จตุรธาตุ คือธาตุในขันธ์ ๕ หรือกายคนเรานี่แหละ ประกอบด้วย

ธาตุดิน ๒๑ (เกสา โลมา นขา ทันตา ตะโจ มังสัง นหารู อัฐิ อัฐิมิญชัง วักกัง หทยัง ยกนัง กิโลมกัง ปิหกัง ปัปพาสัง อันตัง อันตคุณัง อุทริยัง กรีสัง มัทเก มัตถลุงคัง)

ธาตุน้ำ ๑๒ (ปิตตัง เสมหัง บุพโพ โลหิตตัง เสโท เมโท อัสสุ วสา เขโฬ สิงฆานิกา อสิกา มุตตัง)

ธาตุลม ๖ (อุททัง คมาวาตา อะโธคมาวาต กุจฉิสยาวาต โกฎฐาสยาวาต อังคมังคานุสารีวาต อัสสาสะ ปัสสาสะ)

ธาตุไฟ ๔ (สันตัปปัคคี ปริทัยหัคคี ชิรณัคคี ปริณามัคคี)

ในธาตุทั้ง ๔ นั้นจะมีลมประจำธาตุนั้นๆ ตามนัยโบราณกล่าวไว้ เพื่อง่ายต่อการรักษา กล่าวต่อไป

 

 

 

ธาตุดิน มีเส้นลมที่เป็นประธานคือ รุชำ - จันทรภูสัง

ธาตุน้ำ  มีเส้นลมที่เป็นประธานคือ อิทา - ปิงคลา

ธาตุลม มีเส้นลมที่เป็นประธานคือ ทวารี - สหัสรังสี

ธาตุไฟ มีเส้นลมที่เป็นประธานคือ กาลธารี - สุมนา

 

เส้นประทานที่ทำให้เกิด ชื่อโรค “ฆาต”

ปิงคลา = มุตฆาต บริเวณที่พบ – หัวใจ, กระเพาะปัสสาวะ, มดลูก

กาลธารี = รัตฆาต บริเวณที่พบ – ตับ, ปอด, หัวใจ

ทวารี = ปัตฆาต บริเวณที่พบ – หัวใจ, ปอด, ไต

รุชำ = สัณฑฆาต บริเวณที่พบ – หัวใจ, สมอง, ไขสันหลัง

 “จตุรธาตุ”

จตุรธาตุ คือ ธาตุ ทั้ง ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ

นวดจตุรธาตุ คือนวดเปิดธาตุ ทั้ง ๔ ถ้าป่วยจุดปิดธาตุจะปิดอัตโนมัต พลังงานการไหลเวียนขาด ปล่องแห่งการถ่ายเทพลังงานจะไปอั้น ณ จุดปิดนั้น ทำให้เราสามารถตรวจได้ว่าตำแหน่งนั้น เป็นตำแหน่งธาตุอะไร ในแนวเส้นประธานใด การแก้ไขก็จะง่ายยิ่งขึ้น

หลายท่านถามเข้ามาว่าวิชานี้มีมานานแล้วยัง จริงแล้วมีมานานมากครับ แต่ทางโบราณไม่ได้เขียนอธิบายไว้ เพียงแต่ลงจุดไว้เป็นปริศนาเท่านั้นเอง หัวใจของวิชานวดนี้จึงมีการถ่ายทอดมาตามตระกูลหมอนวดโบราณ หรือตามคัมภีร์พระวิสุทธิมรรค ยากนักที่คนรุ่นใหม่จะเข้าถึง เพราะวิชาการนวดโบราณถูกแยกซ่อนไว้ในคัมภีร์แพทย์หลายเล่มมาก แม้นแต่ภาพศิลาจารึกที่วัดโพธิ์ ก็ยังมีน้อยคนนักที่จะเข้าใจ แต่ถ้าเรารู้หัวใจก็ง่ายนิดเดียวครับ

ถ้าใครเคยอ่านคู่มือการปฏิบัติสมถะวิปัสสนาของสมเด็จพระสังฆราชสุก ไก่เถื่อน จนถ่องแท้แล้ว ก็จะเข้าใจว่าวิชาการนวดไทยโบราณต้องใช้วิปัสสนาเป็นตัวคุมผสมกับการหายใจลมสูรย์จันทร์ อัสสา ปัสสา  จิตแห่งพรหม ในการกำหนดกดลงจุดนวด เพื่อการรักษาโรคภายใน
ให้สมบูรณ์ที่สุด โดยแทบไม่ได้ใช้น้ำหนักกดนวดแบบรุนแรงเลย พลังการกดแบบแนบนิ่ง ต้องผ่านการกักลมอัสมิตาสายอ่อนและแข็งมาแล้วจนเกิด “คาบ” (การกักลมหายใจที่ยาวนานและมีพลังลงมาที่ปลายนิ้ว) การกดที่เส้นเปิดธาตุ มักมีอาการแสดงที่ปลายนิ้วไม่เหมือนกันในแต่ละจุด

ดังนั้นหมอต้องนิ่งมีสมาธิค่อนข้างมาก และต้องมีครูคอยแนะนำในการสอนอยู่ตลอดเวลา เพราะทุกคนยังไม่เคยฝึกจิต ฝึกลมอัสมิตามาก่อน หรือยังไม่เคยรู้เลยว่า ธาตุดิน ๒๐+๑ นั้นคืออะไรมีอะไรบ้าง เส้นธาตุน้ำ ๑๒ นั้นมีอยู่ในเส้นใด ธาตุลม ๖ อยู่ประจำในเส้นใด ธาตุไฟ ๔ นั้นมีอยู่ในเส้นใด

ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ จะแปรปรวน ก็ต้องมีผัสสะมากระทบแล้วมีอะไรบ้าง นั้นแหละครับ จึงเป็นเรื่องที่ยากยิ่งที่จะเข้าใจ ยิ่งกระทบเข้าธาตุภายในจนแปรปรวนยิ่งแล้ว กระทบปิตตะ เสมหะ วาตะ จนแปรเป็นโรคในกองต่างฯ

ดังนั้น จึงต้องมีการเรียนรู้ทั้งทางทฤษฏี และผู้ที่ผ่านการรักษาคนไข้มาอย่างช่ำชอง ถึงจะแนะวิธีและเทคนิคการเรียนรู้จุดแห่งความลับนั้นได้ผลเป็นอย่างดียิ่งครับ

 “จตุรธาตุ จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยากยิ่งครับ”

                                พท.ศิริมงคล ตอบงาม

กรณีศึกษาการนวดรักษาคนไข้

จตุรธาตุ จุดปิดอากาศธาตุ ปิดดินไม่มีช่องอากาศ แข้นแข็งเป็นก้อน ลมไม่มีทางไป น้ำขัง บวมอั้น แก้เปิดดิน ช่องว่าง ช่องลม ปล่อยน้ำ เปิดสูรย์จันทร์ หายเลยครับอาการ

นวดจตุรธาตุ เปิดสูรย์จันทร์   

คนไข้ : หมอพี่ปวดหัวมาก บริเวณกลางกระหม่อมเลย เป็นมานานหลายปีมาก เป็นๆหายๆ แต่ตอนนี้ไม่หาย แล้วเป็นตลอดมากว่า ๕ ปีต้องลาออกจากงานก่อนกำหนด อาการที่อื่นมีท้องอืดมาก ปวดเกลียวข้างทั้งสอง นอนตะแคงไม่ได้ จุกอก คอแห้ง ยกแขนไม่ขึ้น หายใจขัด ถุงตาย้อยคล้ำ ลิ้นเป็นขุมขอบลิ้นขาวหนา ริมฝีปากแห้ง ร้อนทั้งกลางวันและกลางคืน นอนไม่ได้เลยทรมานมาก ดูมือเริ่มแข็งกำไม่เข้าแล้ว

หมอ: พี่ไปหาหมอรักษามาบ้างไหมครับ หมายถึงรักษามากี่หมอมีหมออะไรบ้าง (แพทย์แผนตะวันตก,แผนไทย,แผนจีน เป็นต้น)

คนไข้: พี่ไปมาหมดแล้ว ทั้งหมอพระ หมอผี หมอดู เข้าเจ้าทรงผี ไปหมดแล้วละยังไม่ดีขึ้นเลย มีแต่เป็นมากขึ้นและหมดเงินมากขึ้นจนแย่แล้วละ

หมอ: แล้วใครแนะนำพี่มาหาผม

คนไข้: มีคนแนะนำมา อยากจะให้พี่หมอไล่อาถรรพ์ให้

หมอ: พี่ครับ พี่ไม่ได้ถูกของหลอกครับ พี่หกล้มบ่อยนะสิ

คนไข้: อ้อ !!! ใช่ๆ เป็นบ่อยมากจนก้นช้ำไปหมดปวดสะโพก ขัดเอว จุกท้องขาไม่มีกำลัง มึนหัวตึงคอ

หมอ: นั้นไงสาเหตุครับพี่ แล้วพี่เป็นผู้หญิง การพลัดตกหกล้มมีผลต่ออวัยวะภายในรวมถึงการมีประจำเดือนด้วย คนเราล้มบ่อยการชอกช้ำภายในมีสูงแล้วถ้าขบวนการรักษา
ไม่ถูกต้องย่อมก่อให้เกิดโรคร้ายต่างๆ ตามมาอีกหลายโรคครับ ผมขอตรวจจุดเปิดปิดธาตุก่อนนะครับเริ่มจาก

๑.จุดอากาศธาตุ พอวางมือลงไปที่จุดปิด คนไข้ก็ร้องเลยเจ็บมากนั้นไง

๒.จุดธาตุลม พอวางมือลงไปที่จุดปิด ก็ร้องเจ็บมากกว่าเดิมอีก

๓.จุดสุมนา ร่องกระบังลมอก พอวางนิ้วลงไปคนไข้จุกออกที่หลังทันที

๔.จุดรัตตะฆาตธาตุไฟ ฝั่งธาตุดินแข็งเกร็ง ฝั่งไฟเจ็บลึก และหายใจไม่ออก

๕.จุดปัตตะฆาตเพื่อมุตตะฆาต ทั้งซ้ายขวาแข็งเป็นลำแข็ง

คนไข้ไม่สามารถเอี้ยวตัวได้เลย ครั้นพอก้มเงยศีรษะ ก็หน้ามืดจะเป็นลม เฮ้อ!!! เจองานฝีมือมือแล้วละเรา หลังจากตรวจแล้วอธิบายแล้วก็ลงมือ

๑.ประคบความร้อนชื้นครับ

๒.นวดคลายตัดกล้ามเนื้อตามอาการ

๓.นวดเน้นจุดตัดการไหลเวียน

๔.เปิดจุดปิดธาตุ แล้วเปิดจุดเปิดธาตุ ตามอาการกำเริบ หย่อน พิการ

๕.เปิดจุดสูรย์จันทร์ ปรับความสมดุลย์ธาตุ  พร้อมกับอัดพลังอัสมิตาให้ผู้ป่วย เพื่อความสดชื่น และลดการชอกช้ำจากการนวด

คนไข้ : พี่หมออาการดีขึ้นมากเลยคะไม่น่าเชื่อเลยค่ะ ว่าจะมีการนวดแบบนี้อยู่ ที่แรกนึกว่านวดกด ดัด ดึง

หมอ: ยังมีอะไรดีๆ อีกเยอะครับ หมอแผนโบราณมีดีอีกมาก แต่ละสายไม่เหมือนกัน แล้วแต่บุญบารมีที่เคยเกื้อกูลกันไว้นะครับ  ขอบคุณมากครับ อาทิตย์หน้ามาตรวจดูอาการที่เหลือนะครับ