Loading the content... Loading depends on your connection speed!

เรียนรู้หลักการจับชีพจร…..แบบโบราณ

วิชาการจับชีพจรของแผนไทย,แมะแผนไทย

การจับชีพจรที่ข้อมือ
ให้จับชิดชิดกับตรงรอยต่อของข้อมือ
การวางนิ้ว ให้เรียงลำดับดังนี้ นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง เรียงตามลำดับ
ตามตรีธาตุที่เรียงกันคือ วาตะนิ้วชี้ ปิตตะนิ้วกลาง และเสมหะนิ้วนาง

ทำไมต้องเรียงเป็น วาตะ ปิตตะ เสมหะ แบบนี้ ?
อธิบายว่า

การจับชีพจร เหมือนธรรมชาติของคลื่น
สิ่งที่ทำให้น้ำนิ่งๆพัดพา กลายเป็นคลื่นเข้าหาฝั่ง คืออิทธพลของลม
เหมือนชีพจรที่เดินมา เคลื่อนมาจนสุดทาง (ข้อมือเหมือนฝั่ง) ตำแหน่งแรกที่เราจับ จึงเป็นการดูกำลังลม ดูลักษณะลม ดูความปกติหรือผิดปกติของลม (วาตะ)
ทีนี้ในร่างกายคนเรา ทำไมวาตะจึงทำงานได้ จึงพัดพาโลหิตให้ไหลเวียน….ก็เพราะมีปิตตะ (ไฟ) ที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา ลมในร่างกายจึงเป็นลมที่ร้อน เป็นลมที่อุ่น…..แล้วเราจะวัดกำลังของปิตตะจากอะไร
เมื่อคลื่น(น้ำที่ถูกลมพัด)กระทบฝั่งแล้ว จะต้องเกิดการสะท้อนกลับเป็นคลื่น คลื่นที่สะท้อนนี้ สูง ต่ำแค่ไหน กำลังมากน้อยแค่ไหน เป็นกำลังของปิตตะเอง (เพราะกำลังลมได้ทำหน้าที่ไปแล้ว คือการพัดพามา) หลังจากกระทบฝั่งแล้วอิทธิพลของวาตะก็อ่อนลงไป สิ่งที่วัดได้จากตำแหน่งที่สองคือปิตตะ หรือตำแหน่งของไฟนั้นเอง
หลังจากเกิดคลื่นสะท้อนสูงขึ้นแล้วจะเกิดอะไรขึ้น…..คลื่นก็จะลดลงและหายไป ก็จะเป็นน้ำจริงๆหรือเป็นเสมหะ (น้ำธรรมดา) เพราะอิทธิพลของลมและไฟได้ลดลงแล้ว วาตะและปิตตะ จึงวัดไม่ได้จากตำแหน่งนี้…..จึงควรแก่การดูเสมหะในร่างกาย (แผนจีนว่าตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งของไต)

การตรวจชีพจรแบบแผนไทยนี้ยากนักและลึกซึ้งต้องอาศัยการฝึกฝน รวมถึงสมาธิของคนจับ ไม่ใช่ของง่าย หากฝึกจนตรวจเป็น จะสามารถแปลผลได้ละเอียดลึกซึ้งและพิศดาร จะสามารถรู้สภาพของอวัยวะหรือระบบภายในได้ ตรวจได้ว่าสตรีตั้งครรภ์หรือไม่ รู้เพศของทารกในครรภ์ได้ ฯลฯ และอีกมากมายตามระดับของความลึกในวิชาที่ผู้ฝึกเข้าถึง

credit : อาจารย์ดร.ณภัทร พานิชการ
ท่านใดต้องการแชร์เชิญได้เลยครับ แต่โปรดให้เกียรติครูอาจารย์ที่สอนวิชานี้คืออาจารย์ดร.ณภัทร พานิชการ ด้วยการไม่ลบcreditออก ขอบคุณครับ

ปล.โพสนี้ประสงค์เพียงเพื่อให้รู้ว่าแมะแผนไทยเป็นการตรวจที่มีอยู่จริงและไม่ด้อยกว่าการแมะชีพจรของทางแผนจีน ! หากต้องการฝึกตรวจให้เป็น ยังมีรายละเอียดที่ต้องรู้อีกมาก

ขอขอบคุณเนื้อหาดี จาก คุณ Woranut Soonsawad

เรียนรู้หลักการจับชีพจร…..แบบโบราณ(ตอนที่๒)

๐ ตำราแมะของแพทย์จีน ได้แบ่งชีพจรออกเป็น 3 อย่าง คือ
1. ชีพจรของคนปกติ
2. ชีพจรของคนป่วย
3. ชีพจรแบบประหลาด

ในที่นี้ได้อธิบาย ชีพจรของคนป่วย แพทย์จีนโบราณ ได้ค้นพบว่า การเต้นของ ชีพจรคนที่ป่วยมีลักษณะการเต้นที่แตกต่างกันมากมายหลายแบบ และ ซับซ้อน ซึ่งการเต้นในแต่ละแบบแต่ละชนิดได้บ่งบอกถึงอาการ และชนิด ของโรคที่เกิดขึ้นกับอวัยวะภายในของคนนั้นแตกต่างกันด้วย
เพื่อให้ง่าย แก่การฝึกฝนจดจำ การแพทย์จีนจึงได้แบ่งการเต้นของชีพจรคนที่ป่วย ออกเป็น 28 ชนิด ในตำราแพทย์จีนได้อธิบายไว้ ดังนี้

สัมผัสชีพจรลอย การเต้นของชีพจรมีลักษณะลอย (พู้) หมายถึง เมื่อใช้นิ้วทั้ง 3 นิ้ว สัมผัสลงที่ชีพจรเบาๆ ก็พบชีพจร แสดงว่าไข้นั้นยังเกิดอยู่ที่ผิวของ อวัยวะภายในทั้ง 6 คือ ถุงน้ำดี กระเพาะอาหาร สำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก กระเพาะปัสสาวะ และสามส่วน ยังไม่ได้เข้าถึงภายใน
+ ลอย (พู้) —–> แรง (ฮ้ง) ค่อย (ฮือ) กระจาย (สั่ว) กลวง (คู) แข็ง (เก๊ก) นิ่ม (ยู้)

อาการของชีพจรลอยนี้มักจะมีลักษณะของชีพจรอื่นอีกที่แทรก ตามมาอีก 6 ลักษณะ 6 อาการ คือ

1. ชีพจรแรง (ฮ้ง) การเต้นของชีพจรลอย และชนนิ้วมือแรง แสดงว่า อาการของผู้ป่วยคือ อาการไข้ ความร้อนสูง

2. ชีพจรค่อย (ฮีอ) การเต้นของชีพจรลอย และชนนิ้วมือเบาๆ ไม่มีแรง แสดงว่า ผู้ป่วยนั้น อ่อนแอ ขาดพลัง และโลหิต ไม่มีเรียวแรง

3. ชีพจรกระจาย (สั่ว) การเต้นของชีพจรลอย และเต้นมาชนนิ้ว มือลักษณะกระจายหลวมๆ แสดงว่า อาการของผู้ป่วยคือ โรคไตที่ขาดพลัง

4. ชีพจรกลวง (คู) การเต้นของชีพจรลอย เมื่อกดนิ้วมือลงไป แล้วรู้สึกกลวงเหมือนกดลงบนใบไม้ที่ลอยอยู่ แสดงว่า ผู้ป่วยนั้นขาดโลหิต หรือเสียโลหิตมากเกินไป เช่น หลังได้รับการผ่าตัด เสียโลหิตจากอุบัติเหตุ ต่างๆ สตรีตกโลหิต

5. ชีพจรแข็ง (เก๊ก) การเต้นของชีพจรลอย เมื่อกดนิ้วมือลงไป แล้ว รู้สึกแข็งเหมือนกับหนังกลอง แสดงว่า ผู้ป่วยมีอาการของพลังอิม และ เอี๊ยงไม่ประสานกัน

6. ชีพจรนิ่ม (ยู้) การเต้นของชีพจรลอย เมื่อกดนิ้วมือลงไปเบาๆรู้สึก ว่าชีพจรนั้นเล็ก และนิ่ม แสดงว่า ผู้ป่วยมีความร้อนในร่างกายปนกับความชื้น

ขอย้ำอีกครั้งนะคะ การจับชีพจรนั้นต้องอาศัยทักษะจับบ่อยๆค่ะ และระดับการกดลงไปตามจุกประสงค์การดู การนำมาโพสต์เป็นความรู้ขั้นทฤษฏีเท่านั้น….

โดย ทางแพทย์สายพุทธ
ขอบคุณข้อมูล อาจารย์ เกรียงไกร เถลิงพล ( ลี )

เรียนรู้หลักการจับชีพจร…..แบบโบราณ(ตอนที่๓)

ชีพจรคนป่วย……

การเต้นของชีพจรมีลักษณะจม (ติ๊ม) หมายถึง เมื่อใช้นิ้วมือ ทั้ง 3 นิ้วกดลงไปแรงๆจึงจะสัมผัสชีพจรได้ ถ้าแตะนิ้วเบาๆจะไม่รู้สึก หรือ รู้สึกแผ่วเบามาก จนไม่สามารถวินิจฉัยอาการของไข้นั้นได้ แสดงว่า ไข้นั้น ได้เกิดอยู่ส่วนลึกของอวัยวะภายในทั้ง 5 คือ หัวใจ ตับ ไต ม้าม ปอด หรือ ที่เรียกกันว่า ไข้หลบใน
+ จม (ติ๊ม) —–> ฝัง (ฮก) แน่น (ล้อ) อ่อน (เยียก)

อาการของชีพจรจม (ติ้ม) นี้มักจะมีลักษณะของชีพจรอื่นอีกที่ แทรกตามมาอีก 3 ลักษณะ 3 อาการ คือ

1. ชีพจรฝัง (ฮก) การเต้นของชีพจร เมื่อกดนิ้วมือลงไปต้อง กดนิ้วให้หนักจนจมลงไปถึงกระดูก จึงจะสัมผัสชีพจรได้ เพราะชีพจร หลบอยู่ที่ซอกกระดูก แสดงว่า ไข้นั้นหลบซ่อนอยู่ภายในอวัยวะ

2. ชีพจรแน่น (ล้อ) การเต้นของชีพจร เมื่อกดนิ้วมือลงไปต้อง กดนิ้วลงไปแรงๆ จึงจะสัมผัสชีพจรได้ และการเต้นของชีพจรนั้นมีชีพจรที่ ใหญ่ และเต้นแรง แสดงว่า ผู้ป่วยมีอาการไข้ที่สะสมไว้นาน ซึ่งจะพบว่า อุจจาระของผู้ป่วยเป็นก้อนแข็ง ต้องใช้วิธีควักออก การสะสมเช่นนี้อาจจะ เป็นการสะสมความร้อน หรือความเย็นก็ได้

3. ชีพจรอ่อน (เยียก) การเต้นของชีพจร เมื่อกดนิ้วมือลงไป ต้องกดนิ้วลงไปแรงๆจึงจะสัมผัสชีพจรได้ แต่ชีพจรนั้นจะอ่อน เล็ก และ ค่อย แสดงว่า ผู้ป่วยอาการพลังธาตุไฟกำลังจะสิ้น

การเต้นของชีพจรมีลักษณะช้า (ชี้) หมายถึง เมื่อแตะนิ้วมือ ลงไปที่ชีพจร แล้วหายใจเข้าออก ชีพจรนั้นเต้นได้ 4 ครั้ง หายใจเข้า 2 ครั้ง หายใจออก 2 ครั้ง โดยที่ชีพจรนั้นไม่ลอยไม่จม เรียกว่า คนไม่มีไข้ + ช้า (ชี้) —–> ช้ามาก (หมั่ง) ฝืด (เสียบ) กระทอก (กัก) ขาด (โถ่ย)
ชีพจรช้า (ชี้) นี้ หากมีลักษณะของชีพจรอื่นอีก 4 ชนิดแทรกตาม มาจะมีอาการไข้แตกต่างกัน คือ

1. ชีพจรช้ามาก (หมั่ง) การเต้นของชีพจร เมื่อแตะนิ้วมือลงไป ที่ชีพจร แล้วชีพจรนั้นเต้นได้แค่ 2 หรือ 3 ครั้ง เท่านั้น แสดงว่า ผู้ป่วยมี อาการไข้เย็น

2. ชีพจรฝืด (เสียบ) การเต้นของชีพจร เมื่อแตะนิ้วมือลงไปที่ ชีพจร การเต้นของชีพจรเต้นช้าแบบหนืดๆคล้ายไม่ไหล แสดงว่า ผู้ป่วยนั้น มีโลหิตจาง

3. ชีพจรกระทอก (กัก) การเต้นของชีพจร เมื่อแตะนิ้วมือลงไป ที่ชีพจร แล้วมีลักษณะชีพจรเต้นช้า และมีอาการหยุดกระทอก แสดงว่า การไหลเวียนโลหิตของผู้ป่วยติดขัด

4. ชีพจรขาด (โถ่ย) การเต้นของชีพจร เมื่อแตะนิ้วมือลงไปที่ ชีพจร แล้วการเต้นของชีพจรนั้นช้า และมีการหยุดจังหวะการเต้น จังหวะ ใดจังหวะหนึ่งอย่างแน่นอนโดยที่ไม่ได้เปลี่ยนไปที่จังหวะอื่น แสดงว่า ผู้ป่วยมีอาการของลิ้นหัวใจพิการไม่ช่องใดก็ช่องหนึ่ง เป็นการที่จะรักษา ได้ยากมาก

*หมายเหตุ* ชีพจรขาดดังกล่าวมาข้างต้นนี้ ไม่รวมอาการ ของสตรีมีครรภ์ และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หรือถูกทำร้าย ร่างกายจนได้รับการบอบช้ำภายใน

โดย ทางแพทย์สายพุทธ
ขอบคุณข้อมูล อาจารย์ เกรียงไกร เถลิงพล ( ลี )