Loading the content... Loading depends on your connection speed!

ตรีผลาปรับสมดุลย์ภาพในหน้าร้อน

ดูแลสุขภาพเบื้องต้นง่ายๆ ตามหลักการแพทย์แผนไทย จะมียาปรับธาตุอยู่ 3 ตำรับ คือยา 3 ตรี ได้แก่ ตรีผลา ประจำฤดูร้อน ตรีกฏก ประจำฤดูฝน และตรีผลา ประจำฤดูหนาว ในฤดูร้อนนั้นโบราณกล่าวว่ามักจะเจ็บป่วยด้วยธาตุไฟเป็นเหตุ จึงต้องดูแลสุขภาพโดยอาศัยรสอาหารจำพวก ขม เย็น จืด และใช้ยาปรับธาตุประจำฤดู คือ ยาตรีผลา สรรพคุณ แก้ปิตตะ วาตะ เสมหะ ในกองธาตุ กองฤดู กองอายุ และกองสมุฏฐาน
ตรีผลา ชื่อยาตำรับนี้อาจฟังไม่คุ้นหูสำหรับคนทั่วไป แต่ในแวดวงการแพทย์แผนไทย รวมไปถึงการแพทย์อายุรเวท อินเดีย ต่างรู้จักยาตำรับนี้ดี เพราะเป็นยาพื้นฐานที่รู้จักกันมาแต่โบราณกาลว่าเป็นยาที่มีสรรพคุณช่วยรักษาความสมดุลธาตุทั้ง 4 ของร่างกาย และเป็นยาที่ปลอดภัยไร้พิษข้างเคียงใดๆ คุณประโยชน์ของยาตรีผลา คือการล้างพิษออกจากระบบต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะระบบทางเดินอาหาร ระบบเลือด และระบบน้ำเหลือง ความหมายของคำว่าตรีผลา คือ หมายถึงตรี แปลว่าสามผลา คือ ผลไม้ จึงหมายถึงผลไม้ 3 อย่าง ประกอบไปด้วย ลูกสมอไทย ลูกสมอพิเภก และ ลูกมะขามป้อม 
สมอไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Terminalia chebula Retz. จัดอยู่ในวงศ์ COMBRETACEAE เป็นพันธุ์ไม้ที่พบขึ้นอยู่ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณแล้งและชื้น ตามภาคต่างๆ ของประเทศ ผลแก่ ซึ่งมีรสเปรี้ยวฝาดหวาน (ฝาดสุขุม) ผลมีสารพวกเทนนิน (tannin) จึงใช้เป็นยาสมาน แก้ลมจุกเสียด ยาเจริญอาหาร ยาบำรุงเป็นยาชง อมกลั้วคอแก้เจ็บคอ ขับน้ำเหลืองเสีย ใช้ภายนอกบดเป็นผงละเอียดโรยแผลเรื้อรัง ใช้รักษาโรคฟันและเหงือกเป็นแผล เป็นยาระบายอ่อนๆ แก้พิษร้อนภายใน แก้ลมป่วง ระบายลม รู้ถ่ายรู้ปิดเอง คุมธาตุในตัวเสร็จ ถ่ายพิษไข้
สารสกัดจากสมอไทย ได้รับการยอมรับว่าเป็นราชาสมุนไพร เนื่องจากฤทธิ์ในการกำจัดสารพิษออกจากร่างกายและบำบัดโรคหลายชนิด ในขณะเดียวกันยังสามารถบำรุงสุขภาพ และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ในประเทศอินเดีย สารสกัดจากสมอไทยใช้ในการรักษาโรคหลายชนิด เช่น โรคระบบทางเดินอาหาร อาการอาหารไม่ย่อย โรคระบบทางเดินปัสสาวะ โรคเบาหวาน โรคผิวหนัง โรคพยาธิ โรคหัวใจ อาการไข้เป็นระยะ อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก แผลในทางเดินอาหาร อาเจียน อาการเจ็บปวดในลำไส้ และริดสีดวงทวารหนัก นอกจากนี้ ยังมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อไวรัส รวมทั้งเชื้อ HIV และแบคทีเรียบางชนิด บำรุงหัวใจ ต้านอนุมูลอิสระและชะลอความชรา นอกจากนี้ ยังช่วยควบคุมระดับไขมันในเส้นเลือด และช่วยการทำงานของตับในการกำจัดไขมันออกจากร่างกาย รวมทั้งกระตุ้นการเผาผลาญของร่างกายได้อีกด้วย
สมอพิเภก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Terminalia belerica (Gaertn.) Roxb. วงศ์ COMBRETACEAE ผลแก่ มีรสฝาด เปรี้ยว ขม สรรพคุณ แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้โลหิตในอุทร แก้น้ำดี ถ่ายอุจจาระ รู้ถ่ายรู้ปิดเอง แก้ลมป่วง แก้พิษร้อนภายใน แก้ลมจุกเสียด ถ่ายพิษไข้ คุมธาตุ แก้ไอ เจ็บคอ ขับน้ำเหลืองเสีย แก้เสมหะเป็นพิษ แก้ดีพลุ่ง แก้อาเจียน บำรุงร่างกาย แก้นอนสะดุ้งผวา ดองกับน้ำมูตรโค ดื่มแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ตามข้อ แก้อ่อนเพลีย ลูกแห้งบดเป็นผงละเอียดใช้โรยแผลเรื้อรัง
มะขามป้อม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phyllanthus emblica Linn. วงศ์ EUPHORBIACEAE เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีถิ่นกำเนิดแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพบได้ในป่าเบญจพรรณแล้งหรือป่าแดง ใช้ผลแก่ทำยา มีรสเปรี้ยว ฝาด ขม เผ็ด สรรพคุณเป็นยาแก้ไอ แก้เสมหะ ทำให้ชุ่มคอ แก้ไข้เจือลม ลดไข้ ขับปัสสาวะ ระบายท้อง บำรุงหัวใจ ฟอกโลหิต แก้ลม แก้ลักปิดลักเปิด มะขามป้อมมีวิตามินซีสูงมาก ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง และแก้พิษสารตะกั่วได้ ตามตำรับยาแผนโบราณใช้ ผลสด เป็นยาบำรุงทำให้สดชื่น แก้กระหายน้ำ แก้ไอ แก้หวัด ช่วยระบายขับปัสสาวะ แก้เลือดออกตามไรฟัน และคอแห้ง ผลแห้ง ตำให้เป็นผงชงกิน แก้โรคหนองใน แก้ตกเลือด ท้องเสีย โรคบิด แก้โรคดีซ่าน และโรคโลหิตจาง
ยาทั้ง 3 ตัวนี้จะทำหน้าที่ควบคุมและกำจัดพิษ และเสริมสรรพคุณซึ่งกันและกัน การนำยาตำรับตรีผลามาใช้ในรูปแบบของเครื่องดื่มอย่างที่กำลังส่งเสริมกันกว้างขวางในปัจจุบันจึงปลอดภัยดี ช่วยให้เกิดการระบายของเสียที่อยู่ในระบบต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงพวกสารพิษต่างๆ ที่ถูกกวาดล้างออกมาด้วย
ตัวยาทั้ง 3 ควบคุมพิษข้างเคียงของกันและกัน เช่น รสเปรี้ยว ซึ่งมีฤทธิ์ระบายของลูกสมอพิเภก อาจทำให้เกิดอาการมวนท้องจึงต้องใช้ลูกสมอไทยและลูกมะขามป้อม ซึ่งมีรสฝาดและขม ช่วยแก้ลมจุกเสียด และลดอาการมวนท้อง เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ก็ช่วยเสริมฤทธิ์ระบายโดยไม่เป็นอันตราย เพราะยาตำรับนี้เป็นยาที่ควบคุมการถ่ายและการหยุดถ่ายโดยอัตโนมัติ ป้องกันมิให้ร่างกายอ่อนเพลีย ใช้ได้ทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงคนเฒ่าชรา ปัจจุบันนี้ตำรับยาตรีผลาเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศสหรัฐอเมริกาในการรับประทานเพื่อล้างพิษและลดน้ำหนัก เพราะตัวยาจะช่วยควบคุมน้ำหนักได้ดี และช่วยระบายไขมันออกมาพร้อมการขับถ่ายเป็นปกติ เพราะใช้ในรูปแบบตำรับไม่ใช้ตัวใดตัวหนึ่ง และตัวยายังทำหน้าที่รู้ถ่ายรู้ปิด คือ ทำหน้าที่ขับระบาย และยังทำหน้าที่หยุดถ่ายระบายอย่างรู้จังหวะเวลา
ยาตำรับนี้นำมาใช้เองได้ง่ายๆ ในรูปของเครื่องดื่ม ซึ่งอาจทำได้เองโดยใช้สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม อย่างละ 1 ส่วนเท่าๆ กัน ใส่น้ำพอประมาณ ถ้าอยากได้แบบเข้มข้นก็ใส่น้ำน้อย ใช้รับประทานก่อนอาหารเช้า-เย็น ครั้งละ 1 แก้ว แต่ถ้าอยากได้แบบเจือจางใช้ดื่มทั้งวันเป็นน้ำสมุนไพร ก็ให้ใส่น้ำเยอะหน่อย ยาทั้ง 3 ตัวนี้มีสมอไทยกับมะขามป้อมที่หาได้ง่ายในรูปของสด ส่วนสมอพิเภกสดอาจหาได้ยาก ก็หันไปใช้ของแห้งแทน หรือจะใช้ตัวยาแห้งทั้งหมดก็ได้ แต่ต้องพึงระวังอย่างยิ่งคือความสะอาดของตัวยา ที่มักจะปนเปื้อนเชื้อราได้ง่าย โดยเฉพาะมะขามป้อม ฉะนั้นเมื่อไปซื้อยาต้องคัดเลือกหน่อย ถ้าเจอพวกราให้ทิ้งไปเลยไม่ต้องเสียดาย เพราะราบางชนิดแม้จะต้มด้วยความร้อนสูงก็ไม่อาจกำจัดได้ แทนที่จะได้ยาดีบำรุงร่างกาย กลับกลายเป็นว่าต้องมารับเชื้อราเข้าสู่ร่างกายเพิ่มย่อมไม่คุ้มค่าอย่างแน่นอน
ร้อนนี้ลองหันมาใช้ตรีผลาปรับสมดุลธาตุลดอุณหภูมิความร้อนกัน.